หนังสือที่เราอ่าน สิ่งที่เราเห็น สมองบันทึกข้อมูลเหล่านั้นยังไง?

สมองเรามีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน แต่ร่วมมือกันทำงานได้ดีเลยทีเดียว เมื่อเรา “ให้ความสนใจ” กับสิ่งต่างๆ เช่นอ่านหนังสือ นั่งรถเดินทางไปเที่ยว หรือไปในที่ที่เราไม่คุ้นเคย เป็นธรรมชาติที่สมองเราก็ได้รับสัญญาณการรับรู้ในไปด้วยผ่านประสาทสัมผัสต่างๆ สมองส่วนฮิปโปแคมปัสนั้นคาดกันว่ามีหน้าที่หลักๆในการกระตุ้นเครือข่ายที่เกี่ยวกับความจำ แต่ในหลายงานวิจัยก็บอกว่าอาจเกิดที่สมองส่วนอื่นๆไปพร้อมกันด้วยเช่นกัน สัญญาณที่เกิดขึ้นนั้นจะเกิดซ้ำๆเพื่อให้มีการเชื่อมต่อหรือการซินแนปส์ระหว่างนิวรอน หรือเซลล์สมองนั้นมีความแข็งแรงมากขึ้น (Synaptic density) ซึ่งเมื่อเกิดซ้ำๆกันหลายครั้งเข้าก็จะเกิดเป็นข้อมูลที่พร้อมให้เราใช้งานได้ หรือเราจำได้นั่นเอง ดังนั้นหากเราขยันอ่านหนังสือ ทบทวน และฝึกฝนในเรื่องราว หรือวิชานั้นๆ เครือข่ายที่สมองสร้างขึ้นจะมีความแข็งแรง และจะจดจำได้ดีในอนาคต ในทางกลับกันหากเราไม่ได้ฝึก หรือใช้ข้อมูลชุดนั้นบ่อยๆ โครงข่ายเหล่านั้นจะค่อยๆจางหายไป หรือการที่เราลืมนั่นเอง

ดังนั้น การลืม หรือจำไม่ได้นั้นอาจเกิดจากที่เราเคยรู้ เคยเข้าใจ แต่เราไม่ได้ฝึกฝนซ้ำๆมากพอจนเครือข่ายที่สมองเคยสร้างขึ้นนั้นหายไป หรืออีกกรณีคือที่เราจำไม่ได้ เพราะเรา “ไม่ได้สนใจ” มันตั้งแต่แรกแล้วต่างหาก